ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากความคิดต่อยอดธุรกิจที่ยอดเยี่ยมของผู้บริหาร อะไรคือเหตุผลที่ควรต่อยอด
การประกอบธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นเชื่อว่าเกิดจากปัจจัยองค์ประกอบหลายๆอย่างที่รวมตัวเข้าด้วยกัน หนึ่งในนั้นที่เจ้าของธุรกิจมือใหม่และผู้บริหารไฟแรงทุกๆท่าน ควรคำนึงถึงให้มากก็คือ เรื่องของการใช้ทรัพยากรในทุกด้านให้คุ้มค่ามากที่สุด ควบรวมกับความเป็นคนที่มีหัวคิดก้าวหน้า ใส่ใจในทุกรายละเอียดของการดำเนินธุรกิจแม้จะเป็นรายละเอียดที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป เพราะทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาจะมีส่วนเป็นตัวในการใช้ต่อยอดทางธุรกิจจนนำมาสู่ปฐมบทความสำเร็จของธุรกิจคุณในอนาคตนั่นเอง
การต่อยอดทางธุรกิจ คือ การใช้เทคนิคความคิดในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ธุรกิจขึ้นมาใหม่ โดยใช้แนวทางหรือแนวความคิดพื้นฐานบวกกับปัจจัยทางธุรกิจที่ตัวเองได้ทำอยู่ก่อนแล้วมาใช้เป็นพื้นฐานในการแตกหน่อเริ่มทำธุรกิจขึ้นมาใหม่ ซึ่งบางครั้งอาจจะมีความเกี่ยงข้องโดยตรงกับธุรกิจในเรื่องผลิตภัณฑ์และบริการที่ตัวเองได้ทำมาก่อน หน้านี้หรืออาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีความเกี่ยวข้องทางความคิดของเจ้าของกิจการและผู้บริหารที่เล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่บริษัทตัวเองพึงจะได้ในอนาคตจากการริเริ่มเพิ่มธุรกิจใหม่ให้กับบริษัทตัวเอง
ความคิดการต่อยอดธุรกิจนี้มีมานานพอสมควรแล้วแต่เพิ่งจะได้รับความสนใจอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทยเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้เท่านั้น อาจเป็นเพราะว่าการต่อยอดทางธุรกิจถึงแม้จะเป็นการแตกธุรกิจขึ้นมาใหม่แต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ตามขึ้นมาเช่นกัน ทำให้เจ้าของกิจการหลายคนเกิดความกลัวขึ้นมา ซึ่งอยากจะชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการต่อยอดทางธุรกิจที่มีประโยชน์มากมายให้ท่านผู้อ่านหลายคนได้รับทราบกันเพื่อคลายความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งข้อดีของการต่อยอดทางธุรกิจ มีดังต่อไปนี้
1. เพิ่มรายได้
แน่นอนที่สุดการต่อยอดทางธุรกิจของคุณจะนำรายได้จำนวนมากมาให้กับทางบริษัทในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นแนวความคิดที่สำคัญมากในการเลือกดำเนินการต่อยอดธุรกิจให้กับทางบริษัทของคุณเอง เพราะต้องยอมรับว่าหลายครั้งการดำเนินธุรกิจของคุณในแต่ละวันมักจะทำให้คุณมองเห็นโอกาสช่องทางในการทำรายได้ใหม่ๆให้กับทางกิจการของคุณอยู่สม่ำเสมอ เมื่อบริษัทมีรายได้มากขึ้น ก็สามารถนำเงินมาลงทุนในเรื่องต่างๆได้อีกมากมาย บริษัทก็จะมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ
2. เพิ่มผลผลิตและใช้ปัจจัยการผลิตอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
เหตุผลในข้อนี้จะเป็นการมองในเรื่องของการใช้ทรัพยากรทางธุรกิจของคุณให้คุ้มค่ามากที่สุด เพราะบ่อยครั้งที่คุณลงทุนทำธุรกิจอะไรซักอย่างหนึ่งแล้วมักจะมีวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือใช้จากการผลิตเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งสิ่งที่เหลือใช้จากการผลิตที่มีเป็นจำนวนมากมายเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มและต่อยอดทางธุรกิจให้กับบริษัทของคุณได้
ยกตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาในเรื่องของบริษัทที่ผลิตชาเขียวที่เป็นยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยรายหนึ่ง ที่ช่วงแรกของการเริ่มประกอบกิจการชาเขียวบรรจุขวดได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดีจนเกินความคาดหมายจึงต้องเริ่มทำการขยับขยายโรงงานที่ใช้ในการผลิตชาเขียว มีการสั่งซื้อเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตขวดที่ทันสมัยมาจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถผลิตขวดได้เป็นจำนวนมากถึงประมาณ 20 ล้านขวด ซึ่งเกินพอดีจากยอดการจำหน่ายชาเขียวที่ตลาดจะรองรับได้ในขณะนั้นเป็นอย่างมาก ถ้าจะฝืนนำขวดที่ได้ทั้งหมด 20 ล้านขวดมาใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ชาเขียวแต่เพียงอย่างเดียวก็ดูจะเป็นการเพิ่มภาระให้ฝ่ายขายมากจนเกินไปที่จะต้องนำผลิตภัณฑ์ออกไปขายในท้องตลาด อีกทั้งจำนวนผู้บริโภคชาเขียวถึงแม้จะมีเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่มากพอที่จะรองรับผลิตภัณฑ์ทั้ง 20 ล้านขวดได้ และถ้าจะปล่อยให้ขวดพลาสติกที่เหลือจากการผลิตเอาไว้เฉยๆเพื่อรอการบรรจุน้ำชาเขียวในรอบการผลิตต่อไปก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ดี อีกทั้งเครื่องจักรที่ทันสมัยที่ซื้อมาก็ดูจะใช้งานได้ไม่คุ้มค่าเท่าใดนัก ผู้บริหารจึงมีไอเดียในการต่อยอดธุรกิจของตัวเอง ด้วยการริเริ่มการทำน้ำชาประเภทอื่นๆขึ้นมาเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดไม่ว่าจะเป็นน้ำชาผสมเลมอน ชาดำเย็น และรวมถึงการผลิตน้ำกาแฟในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการใช้ปัจจัยการผลิตให้คุ้มค่ามากที่สุด และสิ่งนี้ยังเป็นประโยชน์ที่ได้จากการต่อยอดทางธุรกิจของคุณอีกด้วย
3. ขยายสาขาเพื่อครอบคลุมและนำไปสู่การขายแฟรนไชส์
นี่คือผลดีอีกข้อหนึ่งของการต่อยอดทางธุรกิจ เพราะเมื่อธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จได้มากในระดับหนึ่งจากผลการต่อยอดธุรกิจ ความต้องการในตัวสินค้าและบริการก็จะเพิ่มขึ้น จนผู้เป็นเจ้าของกิจการต้องเริ่มคิดและคำนึงถึงวิธีการขยายสาขาเพื่อตอบสนองและครอบคลุมสินค้าและบริการไปยังผู้บริโภคให้มากขึ้น อาจจะขยายสาขาไปสู่จังหวัดต่างๆ และอาจขยายสาขาไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย
นอกจากนี้คุณยังอาจขายลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ของทางร้านค้าและผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณไปยังผู้ที่ให้ความสนใจในธุรกิจของคุณได้ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มยอดขายให้กับทางบริษัทคุณเพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่งจากการที่ต้องผลิตสินค้าเพื่อนำไปป้อนให้กับทางร้านค้าต่างๆที่เป็นสมาชิกแฟรนไชส์ อ้างอิงคำดังกล่าวจากเมนูร้านแมคโดนัลด์
ยกตัวอย่างเช่น ร้านค้าแมคโดนัลด์ ที่ตอนเริ่มก่อตั้งมาช่วงแรกๆอาจจะขายแค่แฮมเบอร์เกอร์เท่านั้น แต่ทุกท่านควรพึงสังเกตให้ดีว่าการที่แมคโดนัลด์ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในปัจจุบันไม่ได้มาจากการขายแฮมเบอร์เกอร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่มีการขายสินค้าอย่างอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นพายชนิดต่างๆ ไอศกรีม นักเก็ต เฟรนช์ฟรายส์ น้ำอัดลม และยังมีการแถมของเล่นอีกด้วย จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงมีการขยายสาขาและขายแฟรนไชส์ไปทั่วโลก ทำเงินให้กับบริษัทแม่ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่างมากมาย ทั้งหมดนี้ก็เป็นผลจากการมีความคิดต่อยอดทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมนั่นเอง นอกจากนี้ยังทำการต่อยอดต่อไปอีกด้วยการเป็นยักษ์ใหญ่เจ้าแรกในประเทศไทยที่ทำการส่งสินค้าตลอด 24 ชั่วโมงในปัจจุบันอีกด้วย
4. บุกเบิกกลุ่มผู้บริโภคใหม่เพื่อการขยายตลาด
การต่อยอดทางธุรกิจยังสามารถทำให้คุณสามารถเจาะหรือเปิดประตูไปสู่กลุ่มผู้บริโภครายใหม่ๆในอนาคตได้ เนื่องจากการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆที่เกิดจากการต่อยอดทางธุรกิจจากผลิภัณฑ์และบริการเดิมนั้น ในหลายครั้งๆมักจะมีกลุ่มเป้าหมายหลัก(Target Group) ที่ต่างไปจากกลุ่มเป้าหมายเดิมของทางบริษัท เหตุผลก็เพราะเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการทำการตลาดกับผู้บริโภคที่ซ้ำซ้อนกับของเดิม และเป็นการป้องกันการแย่งตลาดกันเองจากผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีที่มาจากผู้ผลิตรายเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการขยายตลาดออกไปให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นด้วย
5. รักษาตลาด
ความสามารถในการรักษาตลาดหรือส่วนแบ่งทางการตลาดก็เป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการต่อยอดทางธุรกิจ เพราะถ้าคุณต่อยอดด้วยการขยายกิจการหรือผลิตภัณฑ์สินค้า และบริการของทางบริษัทคุณออกไปให้เพิ่มมากขึ้น ก็เหมือนกับเป็นการโฆษณาบริษัทในเรื่องของความเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆเป็นการเฉพาะ และยังสร้างภาพพจน์ที่น่าเชื่อถือของทางบริษัทที่ทำกิจการในหลายๆด้านที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนกันเป็นอย่างดี อาทิเช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันดีในนาม บริษัท ซีพี ที่ช่วงแรกอาจจะทำแค่เลี้ยงสัตว์เพื่อส่งขายเป็นสินค้าเพื่อการบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาได้ทำการต่อยอดทางธุรกิจด้วยการทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทางอาหารที่ครบวงจร จนกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านอาหาร หรืออีกกรณีคือ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการสินค้าอุปโภคต่างๆ ที่เมื่อก่อนทำแค่น้ำยาล้างจานแต่เพียงอย่างเดียว ก่อนจะต่อยอดไปทำสินค้าประเภทอื่นๆที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน จนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน
ในทั้ง 2 กรณีของทั้ง 2 บริษัท จะเห็นได้ว่าการต่อยอดทางธุรกิจด้วยการเพิ่มการผลิตสินค้าในเครือที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด เป็นวิธีการรักษาตลาดหรือส่วนแบ่งทางการตลาดให้ บริษัทของคุณเป็นผู้ได้เปรียบและถือส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ในมือได้มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการแจ้งไปยังผู้บริโภคถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวในท้องตลาด อีกทั้งการที่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการต่อยอดทางธุรกิจหลายชนิดก็จะช่วยทำให้ทำการตลาดได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น การที่เริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับแชมพูสระผมขาย ก่อนที่จะทำการต่อยอดทางธุรกิจด้วยการทำครีมนวดผมออกขายควบคู่กันด้วย อาจจะช่วยให้การทำการตลาดในอนาคตง่ายขึ้นด้วยการลดราคาเป็นพิเศษเมื่อซื้อทั้งแชมพูและ ครีมนวดผมควบคู่กันเป็นแพ็ค เป็นต้น
6. สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากผลิตภัณฑ์เดิมของบริษัท
การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากผลิตภัณฑ์เดิมของบริษัทก็เป็นข้อดีของความคิดในการต่อยอดทางธุรกิจเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บริษัทที่รับทำเหล็กดัดติดตั้งตามอาคารต่างสถานที่ต่างๆ ในแต่ละวันจะมีเหล็กที่เหลือเป็นจำนวนมากจากการใช้งาน ก็อาจะมีความคิดต่อยอดทำธุรกิจของตนเองเพิ่มขึ้นอีกสัก 1 ธุรกิจ โดยหันมาเปิดกิจการรับทำเฟอร์นิเจอร์โดยใช้เหล็กที่เหลือเป็นจำนวนมากมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการทำเฟอร์นิเจอร์ออกขายไปยังลูกค้าก็ได้ หรือจะในตัวอย่างอีกกรณีคือ การที่บริษัท ซีพี นำมูลของสุกรมาหมักและใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเอาไว้ใช้ในโรงงานและบริษัทหรืออาจจะนำออกขายในอนาคต ก็เป็นตัวอย่างการต่อยอดทางธุรกิจที่ดีจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้วพัฒนาออกมาเป็น ผลิตภัณฑ์ใหม่ในที่สุด
7. รองรับธุรกิจที่อาจถดถอยจากผลิตภัณฑ์แบบเดิมๆ (ที่อาจเกิดจากจำนวนผู้ผลิตที่มีเป็นจำนวนมาก)
การต่อยอดทางธุรกิจให้ขยายกิ่งก้านสาขาออกมาจากธุรกิจเดิมจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการถดถอยของผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการหลักของคุณในอนาคตได้ เพราะต้องทำความเข้าใจในเรื่องทฤษฏีเกี่ยวกับสินค้าอย่างหนึ่งว่า เมื่อแรกกำเนิดของสินค้าและบริการจะค่อยๆไต่ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดเท่าที่สินค้าหรือบริการจะทำได้ จากนั้นจึงจะค่อยๆตกลงมายังที่เดิมนั่นคือจุดเริ่มต้นเพื่อรอการรีโปรดักส์ใหม่อีกครั้งหนึ่งนั่นเอง
แต่ช่วงระยะในการขึ้นสู่จุดสูงสุดจนตกลงมาสู่จุดต่ำสุดนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าจะกินระยะเวลานานเท่าไหร่ เพราะบางทีอาจจะสั้นมากหรือใช้เวลานานเป็นสิบๆปีก็มี ซึ่งก่อนจะถึงช่วงเวลาดังกล่าวของผลิตภัณฑ์ หลักการต่อยอดทางธุรกิจใหม่ๆจะช่วยสนับสนุนภาวะทางการเงินให้กับบริษัทของคุณเป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ตลาดของสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งเกิดการหดตัวอย่างแรงอีกด้วยการต่อยอดทางธุรกิจจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทคุณมีความเข้มแข็งทางการเงิน สามารถหาเงินจากธุรกิจที่ทำอยู่หลากหลายประเภทมาช่วยในการหมุนเงินกระแสเงินสดของทางบริษัทคุณให้มีสภาพคล่องที่สูงมากนั่นเอง
ด้วยการที่การต่อยอดทางธุรกิจนั้นเปรียบเสมือนเป็นการเริ่มทำธุรกิจใหม่เพิ่มเติมอีกประเภทหนึ่งให้กับทางบริษัท ดังนั้นคุณจึงควรพิจารณาให้ดีถึงปัจจัยในด้านต่างๆที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลัก วิธีการและหนทางที่ดีที่สุดในการพิจารณาต่อยอดทางธุรกิจก็คือ ให้ดูว่าธุรกิจที่จะทำการต่อยอดนั้นมีโครงสร้างที่ธุรกิจหลักของคุณสามารถใช้ช่วยในการส่งเสริมอย่างน้อยซัก 20% หรือไม่ ถ้าใช่ก็น่าจะเป็นการต่อยอดที่น่าลงทุนเพราะมีพื้นฐานเดิมของธุรกิจหลักของคุณคอยสนับสนุนอยู่ แต่ถ้ามีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่านี้หรือไม่มีพื้นฐานเดิมคอยสนับสนุนอยู่เลย คุณยิ่งต้องทำการคิดและพิจารณาอย่างรอบคอบให้มากขึ้นเพราะไม่อย่างนั้นก็จะเปรียบเสมือนการเริ่มสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเลยนั่นเอง
ที่มา : incquity.com