ที่เรียกว่า“อวิชชา” นั้นน่าประหลาดอย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่งคือ
ใคร ๆ ก็พยายามจะแสดงตนว่าเป็น "ผู้รู้จักอวิชชา"
และให้ความหมายของอวิชชากันไปเอง
หรือรู้จักอวิชชาอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน
แต่แล้วก็เป็นที่น่าขัน
ที่ความรู้นั้นใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้แม้แต่นิดเดียว
และยังแถมเข้ากันไม่ได้กับความหมายของอวิชชา
ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้
ทั้งนี้เพราะว่ามันเป็น “อวิชชาที่อธิบายโดยผู้ที่มีอวิชชา”
สัตว์โลกที่อยู่ภายใต้กะลาครอบของอวิชชา....
เขาไม่ยอมรับว่าเขาเป็นเช่นนั้น
และเขาจะเถียงว่าเขาไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ทั้งนี้ก็เพราะว่า ภายใต้กะลาครอบนั้น
ก็มีแสงสว่างอยู่ชนิดหนึ่ง
ซึ่งเป็น "แสงของอวิชชา"
เป็นแสงสว่างที่บังลูกตาสัตว์ทั้งหลายไม่ให้เห็น
หรือรู้จักสิ่งทั้งปวง "ตามที่เป็นจริง"
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า อวิชชานั้น
ไม่ได้หมายถึง "ความไม่รู้อะไรเลย"
กลับหมายถึง "รู้อะไรๆ มากมายไม่มีที่สิ้นสุดด้วยซ้ำไป"
แต่ว่าล้วนแต่เป็น “ความรู้ผิด” ทั้งนั้นคือกลับเห็นตรงกันข้ามไปหมด เช่น
เห็นมูลเหตุของความทุกข์ว่าเป็นมูลเหตุของความสุข
อย่างที่เห็นว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว”
เขาไม่เห็นอย่างที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงว่า
ความทุกข์นั้นมันเป็นอย่างไรกันแน่
อะไรเป็นมูลเหตุที่แท้จริงของความทุกข์
สภาพที่ปราศจากทุกข์จริงๆ
โดยไม่หลอกลวงนั้นเป็นอย่างไร
และวิธีปฏิบัติอย่างไรคนเราถึงจะเข้าถึง
สภาพที่ไม่มีความทุกข์นั้น
เราอาจจะกล่าวได้ว่า
ความรู้ชนิดใดมากมายเท่าใดก็ตาม
ถ้าปราศจากความรู้ที่ถูกต้องในสิ่งที่กล่าวมานี้
ต้องถือว่าเป็นอวิชชาทั้งนั้น คือ เป็นความรู้ของอวิชชา
หรือเป็นความรู้ที่ใช้ไม่ได้เลยในการที่จะกำจัดความทุกข์
ฉะนั้น ถ้าจะมีคำแปลที่ถูกต้องรัดกุม
แก่คำว่า “อวิชชา”แล้วจะต้องแปลว่า
“ธรรมชาติที่ปราศจากความรู้ชนิดที่จะดับทุกข์ได้”
ที่มา: พุทธทาสภิกขุ — ที่ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น